ความพร้อมของประเทศไทย EV
นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่แปลกตาแล้วเมื่อเราเห็นยานพาหนะประเภท EV หรือที่เรียกว่ายานพาหนะไฟฟ้า เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย หลายภาคส่วนเริ่มให้การสนับสนุน รวมถึงฐานกลุ่มผู้บริโภคก็เริ่มมีจำนวนมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น การใช้งานพาหนะ EV เป็นที่น่าจับตามองในหลายประเทศ วันนี้เราจะมาวิเคระห์ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ยุคการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า โดยประเด็นที่จะกล่าวถึงหลักๆ จะเป็นด้านที่เรามีความพร้อมพอสมควร และด้านที่เรายังต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พร้อมก้าวเข้าสู่โลกยานยนต์แห่งอนาคตในเร็ววันนี้
เราจะกล่าวถึงปัจจัยราคาและตัวเลือก สถานีชาร์จไฟ นโยบายสนับสนุนโดยรัฐฯ และความนิยมในการใช้ยานพาหนะ EV ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
ในส่วนของราคาและตัวเลือก เนื่องจากประเทศเรายังอยู่ในยุคเริ่มต้นแห่งการใช้พาหนะไฟฟ้า ราคารถประเภทนี้โดยทั่วไปจึงสูงกว่ารถยนต์เครื่องสันดาป รวมถึงตัวเลือกนั้นยังมีไม่มากนัก เมื่อพูดถึงความเสถียรของพาหนะ ก็ยังไม่สามารถดึงดูดใจผู้บริโภคได้ รวมถึงการชาร์จไฟแต่ละครั้งใช้เวลานานเมื่อเทียบกับระยะทางการเดินรถแต่ละครั้งหลังชาร์จ เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตส่วนประกอบรถยนต์เป็นหลัก อาจต้องปรับตัวตามโดยการผลิตยานพาหนะประเภทดังกล่าว หรืออาจจำเป็นต้องรอระยะเวลาที่เหมาะสมในการนำเข้ายานพาหนะ เพื่อที่ผู้บริโภคสามารถซื้อ EV ในราคาที่ถูกลง มีเสถียรภาพ รวมถึงมีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น
ประการที่สองคือจำนวนสถานีชาร์จไฟที่ยังมีอยู่น้อย และไม่ครอบคลุมพื้นที่ผู้บริโภค ครั้นจะชาร์จเองที่บ้าน อุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนประเด็นดังกล่าวก็ยังมีน้อย เช่น การผลิตเครื่องชาร์จที่สามารถติดตั้งในบ้าน การดูแลระบบชาร์จ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ข่าวดีก็คือหลายภาคส่วนเล็งเห็นถึงปัญหานี้ ในส่วนของบริษัท ปตท. ได้แพลนจัดการบริการสถานีชาร์จไฟถึง 350 ที่ในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับการเติบโตในผู้บริโภครถ EV
ประการที่สามคือนโยบายรัฐที่สนับสนุนการใช้ยานพาหนะ EV ล่าสุดกรมสรรพสามิตได้ลดภาษีรถยนต์และภาษีนำเข้า รวมถึงมุ่งมั่นว่า ก่อนปี 2573 รัฐฯจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% หรือเจ็ดแสนห้าหมื่นคันจากยานยนต์ทุกประเภท รวมถึงสนับสนุนให้ผู้บริโภคจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าของตนเป็น (ZEV: Zero-Emissions Vehicles) จากปี 2578
ประการสุดท้ายที่ค่อนข้างเกี่ยวกับการสนับสนุนของรัฐ คือความแพร่หลายในการใช้ EV ณ ปัจจุบัน ขสมก. ระบบขนส่งหลักในกรุงเทพฯนั้นได้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถเมล์จาก NGV เป็นแบบไฟฟ้าทั้งหมด 3,000 คันด้วยกัน ทำให้ขนส่งใช้น้ำมันดีเซลน้อยลงกว่าร้อยยี่สิบล้านลิตรในหนึ่งปี รวมถึงช่วยเรื่องมลพิษทางอากาศอีกด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้ว ประเทศไทยนั้นมีทั้งความพร้อมทั้งในด้านทรัพยากรและศักยภาพในการต้อนรับยานพาหนะยุคใหม่ แม้ว่าจะมีปัจจัยบางประการที่ยังต้องการการแก้ไขและปรับปรุง แต่นโยบายของรัฐรวมถึงความสนใจของภาคเอกชนในการช่วยเหลือผู้บริโภค ทั้งสองเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่การใช้ยานยนต์แบบใหม่ในเร็ววันนี้